วันพฤหัสบดีที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ไม้หลัง (Back Board)

สวัสดีครับ ยินดีต้อนรับเพื่อนๆ ทุกๆ ท่านที่ตั้งใจหรือไม่ตั้งใจเข้ามาเยี่ยมชม D Ukulele Blog ซึ่งเป็น Blog ที่นำเสนอการทำอูคูเลเล่ ( Ukulele) เพื่อเอาไว้เล่นเอง หรือเพื่อนๆ ท่านใดมีฝีมือดี มีเวลาและโอกาสอาจทำเป็นอาชีพได้เช่นกันครับ 

หลังจากที่ผมห่างหายไปพักหนึ่งแล้ว วันนี้มีขั้นตอนการทำ "ไม้หลัง" (Back Board) มานำเสนอครับ ผมจะพยายามนำเสนอด้วยภาษาพูดง่ายๆ เพื่อนๆ จะได้ทำเล่นกันได้ หากมีข้อสงสัยประการใดซักถามได้นะครับ ส่วนเพื่อนๆ ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการทำอูคูเลเล่ (Ukulele) หรือทำกีตาร์ (Guitar) มาช่วยแนะนำ จักขอบคุณยิ่ง นะครับ

ติดไม้ 2 แผ่นเรียบร้อยแล้ว

การทำไม้หลัง (Back Board) หรือไม้หน้า (Sound Board) โดยทั่วไปนิยมใช้ไม้แผ่นบางๆ ตามความหนาที่ต้องการมาต่อกัน (Laminated) ในลักษณะเงาในกระจก (กลับด้านกัน) ภาษาช่างทำกีตาร์ เรียกว่า Book Match เพื่อให้ได้ลวดลายที่สวยงาม และอีกนัยหนึ่งเพื่อให้เกิดความแข็งแรงในการรับแรงดึงจากสายมากขึ้น





วิธีการทำ เตรียมไม้หลัง 2 แผ่น ผมใช้ความหนาประมาณ 1.6-1.7 มิลลิเมตร (เพราะ Size Soprano รับแรงดึงจากสายไม่มากนัก) อุปกรณ์ และเครื่องมือ มีบล็อกไม้ ผมทำด้วยไม้ MDF ( Medium Density Fiber) หนา 18 มิลลิเมตร กว้างยาวตามความเหมาะสมของชิ้นงานที่เราจะทำการ Book Match ครับ ถ้าจะให้ดีควรใช้ไม้อัดชั้นจะแข็งแรงทนทานกว่าครับ





ในภาพกำลังติดกาวยึดไม้หลัง 2 แผ่น เข้าด้วยกัน โดยใช้ C Clamp ยึดบีบหัวท้ายของไม้หลังให้แน่น ตรงรอยต่อของไม้หลังอย่าลืมเอากระดาษรองทั้งด้านบนและด้านล่าง เพื่อป้องกันไม่ให้กาวเลอะออกไปติดกับบล็อกไม้ และไม้ที่กดทับด้านบนนะครับ



กาว และลิ่มที่ใช้ตอกบีบอัดด้านข้างของไม้หลังให้ติดกันแนบสนิท ข้อความระวัง อย่าตอกลิ่มให้แน่นเกินไป เพราะจำทำให้ไม้หลังแตกได้ เนื่องจากไม้หลังบางมาก






ไม้หลังที่ติด Back Bar ด้านขว้าง 2 อัน เสร็จแล้ว Back Bar ผมใช้ไม้สน (Spruce) ทำ ความหนา 6 มิลลิเมตร สูง 8 มิลลิเมตร ผมเหลาให้โครงจากกึ่งกลางไม้ด้านที่ติดกับไม้หลังโค้งไปถึงปลายไม้ (Back Bar) สูงขึ้น 4 มิลลิเมตร เพื่อทำให้ไม้หลังโค้ง ช่างทำกีตาร์บอกว่าจะทำให้เสียงก้องกังวาลสะท้อนเสียงดีขึ้น




Back Strip คือ ไม้ที่ติดตรงกลาง ผมใช้ไม้สน ภาษาช่างทำกีตาร์จะเรียกทับศัพท์ว่า Spruce ความหนา 1.5 มิลลิเมตร กว้าง 12 มิลลิเมตร ช่วงที่เป็นจุดตัดกันกับ Back Bar ให้ตัด Back Strip ออกนะครับ



ดูไม้หลังโค้งๆ ครับ



ต่อไปนำไปประกอบเข้ากับไม้ข้างที่เราติด Kerfing เรียบร้อยแล้ว ทดลองจัดวางดู แล้วทำเครื่องหมายที่ Kerfing ตรงจุดที่ติดกับ Back Bar ทำการเซาะร่อง Kerfing ให้พอดีกับส่วนที่ Back Bar สามารถประกบไม้หลังเข้ากับไม้ข้างไดเแนบสนิท (ขั้นตอนนี้ยังไม่ติดกาวนะครับ)




 



สำหรับการทำไม้หลัง (Back Board) ขอหยุดไว้แค่นี้ก่อนนะครับ

2 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ดูขั้นตอนวิธีการทำแล้วไม่ง่ายเลยนะค่ะ กว่าจะได้ตัวหนึ่ง
ปิ่น

D UKULELE กล่าวว่า...

ใช่ครับ ตัวนี้ทำเกือบ 3 เดือนแล้ว ยังไม่เสร็จเลยครับ วันนี้ทดลองใส่สายลองเสียงดูแล้ว ได้ยินเสียงแล้วหายเหนื่อย มีกำลังใจทำเยอะเลยครับ